3 สูตร ระงับกลิ่นปาก เพิ่มความมั่นใจ
3 สูตร ระงับกลิ่นปาก เพิ่มความมั่นใจ
สูตร ระงับกลิ่นปาก การพูดคุยเป็นหนึ่งในวิธีการเข้าสังคมของมนุษย์ แต่ปัญหากลิ่นปากอาจทำให้บทสนทนาไม่ราบรื่น เสียบุคลิกภาพ ขาดความมั่นใจไปโดยปริยาย ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ชีวจิต จึงนำเคล็ดลับการจัดการกับเจ้ากลิ่นปากไม่พึงประสงค์ด้วยวิธีง่ายๆ มาฝากคุณผู้อ่านค่ะ
เหงือกและช่องปาก จัดเป็นส่วนต่อขยายของระบบย่อยอาหาร แพทย์จีนเหมาชิง หนี่ ผู้เขียนหนังสือ Secrets of Self-Healing ระบุว่า
ตามตำราการแพทย์แผนจีน ช่องปาก เป็นตัวแสดงความเป็นไปของกระเพาะอาหาร และระบบย่อยอาหารทั้งหมด ทั้งโรคเหงือก และปัญหากลิ่นปากเกิดจากความร้อนสูง (การติดเชื้อและการอักเสบ) ในม้าม ตับอ่อน และกระเพาะอาหาร รวมไปถึงความเครียดที่มีผลต่อการลดภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมให้เกิดแบคทีเรียและเชื้อราในช่องปากและระบบย่อยอาหาร
เราลองมาดูกันดีกว่าว่าคุณหมอเหมาชิงมี วิธีง่ายๆ เพื่อจัดการกับกลิ่นปาก อย่างไรบ้าง
กินอาหารให้เป็นมิตรกับช่องปาก
หากจะป้องกันกลิ่นปากนั้น คุณหมอเหมาชิงแนะนำว่า
- ควรกินอาหารประเภทผักผลไม้และธัญพืชเต็มเมล็ด โดยแบ่งกินเป็นมื้อเล็กๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่าอดอาหาร ลองสังเกตความรู้สึกอิ่มของตัวเองและกินเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ของความอิ่มปกติ เพื่อป้องกันการกินอาหารเกินความต้องการ และดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
- หลีกเลี่ยงน้ำตาล อาหารผ่านกระบวนการแปรรูป และอาหารที่เป็นกรด อาหารรสเผ็ดร้อน อาหารที่ทอดด้วยความร้อนสูง และอาหารมันๆ เพราะระคายกระเพาะและก่อให้เกิดความร้อน นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟก็จัดเป็นเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดความร้อนด้วยเช่นกัน
- งดเครื่องดื่มซ่าๆ อย่างน้ำอัดลม น้ำโซดาเพราะจะทำให้ค่าพีเอชในช่องปากเสียสมดุลทั้งยังทำลายผิวเคลือบฟันอีกด้วย

น้ำยาบ้วนปากโฮมเมด
- เตรียมน้ำอุ่น 240 มิลลิลิตร
- หยดน้ำมันสกัดจากใบเสจหรือเปปเปอร์มินต์ (หรือทั้งสองอย่างผสมกัน) 5 หยดลงในน้ำอุ่น
- คนเล็กน้อยให้เข้ากัน
- ใช้บ้วนปากแทนน้ำยาบ้วนปากได้เลยรักษาเหงือกและฟันตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนโบราณ
นอกจากวิธีดูแลช่องปากทั่วๆ ไป คุณหมอเหมาชิงแนะนำให้ใช้สมุนไพรที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสมุนไพรจีน สำหรับรักษาปัญหากลิ่นปากไว้ดังนี้
1. ใช้น้ำมันเสจ น้ำมันยี่หร่า หรือน้ำมันเปปเปอร์มินต์ นวดเหงือกเบา ๆ ก่อนนวดให้ทำความสะอาดนิ้วมือและตัดเล็บให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ วิธีนี้ช่วยให้เหงือกแข็งแรง
2. เคี้ยวสมุนไพรจำพวกเทียนสัตตบุษย์ กานพลู ผักชีล้อม ซึ่งช่วยลดกลิ่นปากได้
3. ใช้สมุนไพรอื่นๆ ในการปรุงเครื่องดื่ม เช่น ชาการ์ดีเนีย หรือนำมาเป็นส่วนประกอบของยาอม เช่น ยาอมที่มีส่วนผสมของชะเอมก็สามารถลดกลิ่นปากได้เช่นกัน

TRIGGER POINT
กลิ่นปากเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งการกินอาหารรสฉุนแปรงฟันไม่ทั่วถึง โดยมากกลิ่นปากแบบชั่วคราวอาจมีที่มาจากความหิว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปากแห้งซึ่งแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการทำความสะอาดให้เหมาะสม แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหากลิ่นปากเรื้อรัง อันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลากชนิดในช่องปาก บางเคสที่มีอาการรุนแรงอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น