วิตามิน เพื่อผู้หญิงทุกวัย ทุกสถานะ แข็งแรง อ่อนวัย ห่างไกลโรค
หากจะบอกว่าโลกใบนี้ขับเคลื่อนไปได้เพราะพลังจาก “ผู้หญิง” ก็คงไม่ผิดนัก ชีวจิต จึงนำเสนอวิธีกิน วิตามิน เพื่อผู้หญิงทุกวัย ทุกสถานะ เพื่อคงความแข็งแรง อ่อนวัยห่างไกลโรค มาฝากกัน
1. วิตามินเพื่อว่าที่คุณแม่
เมื่อตั้งใจว่าจะเป็น “คุณแม่” ผู้หญิงส่วนใหญ่จะดูแลสุขภาพเพื่อให้ลูกน้อยที่เกิดมาจากครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ หนังสือ อาหารบำบัดโรค โดย คุณศัลยา คงสมบูรณ์เวช สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ อธิบายสรุปไว้ว่า
ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อรู้ตัวว่าจะตั้งครรภ์ มักปรับพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพเพื่อให้ลูกเกิดมาสมบูรณ์ แต่ก็มีผู้หญิงบางส่วนมีปัญหาตั้งครรภ์ยากซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลของร่างกาย เช่น อ้วนหรือผอมเกินไป
ผู้หญิงที่อ้วนเกินไปมักมีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนสูง ทำให้รอบเดือนและการตกไข่ผิดปกติ ส่วนผู้หญิงที่ผอมเกินไปมักมีปริมาณเซลล์ไขมันต่ำจึงมีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำ ทำให้ไข่ตกยาก รอบเดือนผิดปกติเช่นกัน
ฉะนั้นต้องปรับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและกินอาหารให้ครบถ้วน

Vitamin Guides
วิตามินธรรมชาติหนังสืออาหารบำบัดโรค แนะนำสารอาหารที่ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ควรได้รับ ดังนี้
กรดไลโนเลอิก เป็นกรดไขมันจำเป็น พบในดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง หากกินไม่เพียงพอต่อความต้องการจะทำให้ตั้งครรภ์ยาก แนะนำให้ใช้น้ำมันเหล่านี้ปรุงอาหารวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็จะช่วยให้ร่างกายได้รับกรดไลโนเลอิกเพียงพอวิตามินซี พบในส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก แคนตาลูป สับปะรด มะเขือเทศ พริก บรอกโคลีการได้รับวิตามินซีในอาหารเพียงพอจะทำให้ตั้งครรภ์ง่ายขึ้น
วิตามินดีและแคลเซียม วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อสุขภาพกระดูก การขาดสารอาหารทั้งสองชนิดนี้มีผลให้กระดูกเชิงกรานไม่แข็งแรง โดยวิตามินดีได้จากการตากแดดอ่อนๆ ส่วนแคลเซียมพบในโยเกิร์ตปลาเล็กปลาน้อย งา คะน้า ผักบุ้ง
กรดโฟลิก มีความจำเป็นต่อการสร้างระบบประสาทของตัวอ่อนเมื่อตั้งครรภ์ การขาดกรดโฟลิกอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการทางสมองที่เรียกว่า สไปนาบิฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความบกพร่องแต่กำเนิด โดยที่ลำกระดูกสันหลังของตัวอ่อนไม่ปิดในเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้การก่อตัวของระบบประสาทไม่สมบูรณ์เด็กจะพิการแต่กำเนิด
โดยกรดโฟลิกพบในผักใบเขียวจัด ถั่วต่างๆ ธัญพืชไม่ขัดสี ส้ม สตรอว์เบอร์รี่
นอกจากนี้ แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล เจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊กสุขภาพหลายเล่มในเครืออมรินทร์ ยังแนะนำว่าว่าที่คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กให้เพียงพอด้วย โดยธาตุเหล็กพบในหอยกาบ ลูกพีชแห้ง ธัญพืช หอยนางรม ข้าวโอ๊ต ถั่วต่างๆ

วิตามินเสริม ส่วนการกินวิตามินเสริมในผู้หญิงที่กำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์นั้น นายแพทย์ประมวล จารุตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชวิทยา ชีวจิตโฮมคลินิก อธิบายว่า
“หากกินอาหารครบถ้วนแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริม ยกเว้นกรดโฟลิกที่ต้องกินเสริมวันละ 300 – 400 ไมโครกรัม หรือตรวจพบว่ามีภาวะโลหิตจาง อาจเสริมธาตุเหล็กวันละ 10 – 15 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับภาวะของโรค
2. วิตามินเพื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และหลังคลอด
เมื่อตั้งครรภ์แล้ว ร่างกายคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นผู้ช่วยศาสตราจารย์อาณดี นิติธรรมยง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายสรุปไว้ว่า
ระหว่างตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นในร่างกายคุณแม่ เช่น การสร้างเนื้อเยื่อของทั้งแม่และลูก น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10 – 15 กิโลกรัม ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากเกินไปจะส่งผลเสียเนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนชนิดต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้อง เช่น อาเจียน เวียนศีรษะ ท้องผูก หงุดหงิด อ่อนเพลียได้
คุณหมอธิดากานต์แนะนำเพิ่มเติมว่า
“ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินตามใจปาก เพราะจะส่งผลเสียต่อลูกถ้าแม่มีน้ำหนักมากหรืออ้วนเกินไป ลูกก็มีแนวโน้มอ้วนด้วย และมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนอินซูลินจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีนัก
“ส่วนหลังคลอดก็ต้องกินอาหารสุขภาพเช่นกัน เพราะต้องนำสารอาหารไปใช้ในการสร้างน้ำนม รวมถึงต้องฟื้นฟูสุขภาพจากการเสียเลือดระหว่างคลอด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดคลอดและคลอดเอง”

Vitamin Guides
วิตามินธรรมชาติคุณหมอธิดากานต์แนะนำสารอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และหลังคลอดดังนี้
โปรตีน ช่วยให้การเจริญเติบโตของทารกเป็นปกติ การพัฒนาของสมองมีความสมบูรณ์ เน้นให้กินโปรตีนจากเนื้อปลา เลี่ยงการกินไส้กรอก เบคอน หรือเนื้อสัตว์แปรรูปทั้งหลาย
แคลเซียมและวิตามินดี เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างกระดูกของทารก ซึ่งส่วนใหญ่เรามักได้รับแคลเซียมจากนมวัว แต่หากพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ สามารถเปลี่ยนจากการดื่มนมวัวเป็นการดื่มนมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์แทนได้
ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญของสารฮีโมโกลบิน ซึ่งอยู่ในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่พาออกซิเจนไปส่งตามเซลล์และทำหน้าที่ร่วมกับเอนไซม์ในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ จึงมีความจำเป็นมากต่อสุขภาพของผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด พบในงาดำ หอยกาบ ลูกพีชแห้ง ธัญพืช หอยนางรม ถั่วดำเมล็ดแห้ง ข้าวโอ๊ต ซึ่งควรกินร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผักและผลไม้สด จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชได้ดีขึ้น
กรดโฟลิก เป็นสารอาหารจำเป็นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิด โดยกรดโฟลิกพบในผักใบเขียวเข้ม ถั่วต่างๆ ธัญพืช ไม่ขัดสี ส้ม สตรอว์เบอร์รี่
นอกจากนี้คุณหมอประมวลยังแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์กินสารอาหารดังนี้
ไอโอดีน หากคุณแม่ตั้งครรภ์ขาดไอโอดีนจะทำให้พัฒนาการสมองของทารกผิดปกติทารกอาจเกิดมาปัญญาอ่อน หูหนวก การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน โดยพบไอโอดีนในอาหารทะเลและเกลือทะเล

วิตามินเสริมคุณหมอประมวลแนะนำวิตามินเสริมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ดังนี้
“แนะนำให้กินกรดโฟลิกวันละ 300 – 400 ไมโครกรัม จนครบ 3 เดือน พอถึงเดือนที่ 4 แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้กินวิตามินรวมซึ่งอาจประกอบไปด้วยวิตามินบีคอมเพล็กซ์ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม วิตามินซี แมกนีเซียม ซึ่งรวมกันอยู่ใน 1 เม็ด เพื่อบำรุงร่างกายและเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างน้ำนมซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์”
นอกจากนี้คุณหมอประมวลยังย้ำว่า วิตามิน ที่ห้ามกินเด็ดขาดระหว่างการตั้งครรภ์คือวิตามินเอ เพราะอาจทำให้ทารกพิการได้
คุณหมอธิดากานต์เสริมว่า
“หากพบว่าคุณแม่หลังคลอด มีภาวะขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากสูญเสียเลือดจากการผ่าตัด คุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยให้กินธาตุเหล็กชนิดเม็ดเสริมเพื่อชดเชยการสูญเสียธาตุเหล็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าร่างกายขาดธาตุเหล็กระดับใด แต่ไม่ควรซื้อมากินเอง เนื่องจากหากมีธาตุเหล็กปริมาณสูงเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ”
ขอบคุณข้อมูลจาก ชีวจิต
ขอบคุณข้อมูลจาก ชีวจิต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น